จุดประสงค์ของการสร้างหอพักสำหรับนิสิตนั้น นอกจากจะเป็นที่พักอาศัย ให้ความสะดวกสบายไม่ต้องเดินทางไกล ให้ความพร้อมทางด้านอุปกรณ์ในการศึกษาเล่าเรียนแล้ว จุดประสงค์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การเปิดโอกาสให้นิสิตได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันในสังคม ได้รับการอบรมส่งเสริมจริยธรรม เพื่อให้นิสิตสามารถบรรลุเป้าหมายแห่งการเป็นบัณฑิตที่สมบูรณ์ มหาวิทยาลัยจึงได้เล็งเห็นความสำคัญ โดยจัดหอพักในมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นสวัสดิการช่วยเหลือนิสิตที่มีความจำเป็น ในด้านที่พักรวมถึงต้องการให้หอพักเป็นสถานที่เพิ่มพูนความรู้และช่วยพัฒนาบุคคลให้มากที่สุด
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย แห่งแรกของประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.2459 การศึกษาในสมัยแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดแบบ Residential College หรือเป็นการศึกษาและอยู่กินในมหาวิทยาลัย หอพักนิสิตจุฬาฯ จึงถือกำเนิดขึ้นพร้อมๆกับการมีมหาวิทยาลัย ที่พักของนิสิตที่เป็นลักษณะหอพักเริ่มแรก ตั้งอยู่ในบริเวณ “วังวินเซอร์” ซึ่งเป็นวังของสมเด็จเจ้าฟ้าวชิรุณหิศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารในรัชกาลที่ 5 ครั้นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชองค์นี้ทิวงคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงรับรัชทายาท เป็นสมเด็จพระโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารแทน เมื่อทรงสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงทรงโปรดเกล้าฯพระราชทานวังวินเซอร์ให้อยู่ในบริเวณของมหาวิทยาลัย
วังวินเซอร์เป็นที่ตั้งของคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2461 ห่างจากวังประมาณ 60 เมตร มีหอพักสำหรับนิสิต เรียกว่า “หอวัง” เนื่องจากตั้งอยู่ในบริเวณวัง เป็นเรือนไม้ จัดเป็นรูปสี่เหลี่ยม แบ่งเป็นเรือน ก ข ค และ ง หอวังนี้รับนิสิตได้ 30 คน ซึ่งเป็นนิสิตชาย ในชั้นต้นมี ขุนสมิทธิ อนุสรณ์ (เซี้ยง สูยวณิช) เป็นผู้ปกครองหอคนแรก ครั้นถึง พ.ศ. 2465 ตำแหน่งนี้เปลี่ยนชื่อเป็น “อนุสาสก” ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีมาจนถึงปัจจุบันนี้ ใน พ.ศ. 2479 หอวังถูกรื้อเพื่อสร้างสนามศุภชลาศัย สนามกีฬาแห่งชาติ
จากการที่หอวังรับนิสิตได้เพียง 30 คน ทำให้ไม่เพียงพอกับจำนวนนิสิตที่กำหนดให้ทุกคนต้องอยู่หอพัก ดังนั้น ในปี พ.ศ.2465 จึงได้สร้างหอพักขึ้น 2 หลัง สามารถรับนิสิตชายได้ 40 คน เรียกว่า “หอใหม่” ซึ่งตั้งอยู่บริเวณถนนจุฬา ซอย 1
เนื่องจากมหาวิทยาลัยเห็นว่า มีนิสิตหญิงจำนวนมากที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัดและไม่มีที่พักอาศัยที่เป็นหลักแหล่ง ต้องไปอยู่อาศัยตามหอพักเอกชน บางแห่งไม่มีระเบียบและไม่ปลอดภัย นิสิตไม่มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนด้วยตนเองโดยสงบ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้พิจารณาวางโครงการก่อสร้างหอพักนิสิตหญิงขึ้นโดยเฉพาะ เช่นเดียวกับการสร้างหอพักนิสิตชาย
เมื่อปี พ.ศ. 2492 ท่านเจ้าจอมสมบูรณ์ในรัชกาลที่ 5 ได้บำเพ็ญกุศลทำบุญฉลองอายุครบหกรอบ โดยบริจาคเงินจำนวน 120,000 บาท ให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีวัตถุประสงค์ที่จะให้สร้างหอพักนิสิตหญิง ต่อมาท่านได้รวบรวมเงินจากบรรดาญาติมิตรบริจาคสมทบเป็นจำนวนเงิน 3,911 บาท ครั้นปี พ.ศ. 2493 ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ ณ สวนอัมพร ท่านเจ้าจอมฯได้มอบเงินสมทบให้อีกเป็นจำนวนเงิน 260 บาท รวมเงินที่ท่านเจ้าจอมฯได้บริจาคให้สามครั้ง เป็นจำนวนเงิน 124,171 บาท ประกอบกับชุมนุมนิสิตหญิงได้มอบเงินสมทบอีก 283.50 บาท ทำให้เงินบริจาคมีจำนวนทั้งสิ้น 124,454.50 บาท นับว่าท่านเจ้าจอมฯเป็นผู้ริเริ่มให้อุปการะคุณแก่นิสิตหญิงของมหาวิทยาลัยที่ขาดแคลนที่พักอาศัยเป็นอันดับแรก
ในปี พ.ศ. 2493 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับงบประมาณเพื่อก่อสร้างหอพักนิสิตหญิงเป็นจำนวนเงิน 1,105,560 บาท และได้เริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2493 เมื่อสร้างตัวอาคารหอพักเสร็จเรียบร้อยแล้ว ท่านเจ้าจอมสมบูรณ์ได้กรุณาให้เตียงนอนประจำห้องอีก 75 ชุด เมื่ออาคารสร้างเสร็จ ทางมหาวิทยาลัยได้เปิดให้นิสิตหญิงเข้าพำนักในต้นปีการศึกษา 2495 แต่ทำพิธีเปิดอาคารในวันศุกร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2496 สามารถรับนิสิตหญิงเข้าพักได้ทั้งหมด 75 คน มี ม.ร.ว.สลับ ลดาวัลย์ ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอนุสาสกหอพักนิสิตชาย (หอใหม่) ในขณะนั้น รักษาการในตำแหน่งอนุสาสกหอพักนิสิตหญิง โดยมี อาจารย์ ม.ร.ว.แสงโสม เกษมศรี เป็นผู้ช่วยอนุสาสก เมื่อทำการรับนิสิตเข้าหอและวางระเบียบข้อบังคับเรียบร้อยแล้ว จึงได้มอบหมายให้ ม.ร.ว.แสงโสม เกษมศรี เป็นอนุสาสก และอาจารย์สุรางค์ โค้วตระกูล เป็นผู้ช่วยอนุสาสก
อาคารหอหญิงเมื่อสร้างเสร็จ มี 2 อาคาร คือ อาคารด้านทิศเหนือ (หอเหนือ) และอาคารด้านทิศใต้ (หอใต้) รับนิสิตได้ 71 คน ต่อมามีการสร้างอาคารกลางเชื่อมหอเหนือและหอใต้ จึงรับนิสิตได้ทั้งหมด 152 คนสำหรับค่าบำรุงหอพักในขณะนั้น แบ่งเป็นประเภทห้องเดี่ยวและห้องคู่ คือ ประเภทห้องเดี่ยวหอเหนือและหอใต้ ค่าพำนักวันละ 5 บาท หอกลางค่าพำนักวันละ 10 บาท ส่วนประเภทห้องคู่ หอเหนือและหอใต้ ค่าพำนักวันละ 3 บาท ส่วนหอกลางค่าพำนักวันละ 5 บาท สำหรับค่าอาหารจัดให้ 2 มื้อ คือ เช้าและเย็น คิดค่าอาหารวันละ 5 บาท